เผยแพร่งานวิจัยปี2557
ชื่อเรื่อง การพัฒนาความรู้ทักษะวิชาชีพทางบัญชีของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขางานการบัญชี โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD
ผู้วิจัย นางลดาพร โฆษะโก
ปีที่วิจัย 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์1) เพื่อพัฒนาความรู้ทักษะวิชาชีพทางบัญชีของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 ของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนการสอนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 ของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โดยผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 กลุ่ม 2 สาขาวิชาการบัญชี จำนวน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็น แบบประเมินผลการเรียนรู้ วิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อคำถามแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ และแบบประเมินผลความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนการสอนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD ซึ่งลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยได้ดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมด้วยตนเอง สำหรับข้อมูลที่ได้นำมาทำการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์ในการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติ t-t
ผลการวิจัยพบว่า
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD พบว่า นักเรียนมีคะแนนหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนวิชาการบัญชีเบื้องต้น 2 รหัสวิชา 2200-1003 โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ STAD ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุดคือ การเรียนแบบกลุ่มร่วมมือช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น ส่วนรายการที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ นักเรียนพึงพอใจกับการเรียนแบบเป็นกลุ่มร่วมมือทั้งนี้เพราะ รู้สึกว่าเพื่อนทุกคนในกลุ่มได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน