เผยแพร่งานวิจัยปี2563
ชื่อเรื่อง : การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้วิธี การจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
ผู้วิจัย : นายราชพงศ์ ทองราช
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้วิธีการจัดการเรียน การสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยผู้วิจัยเลือกกำหนดกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการ สุ่มแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบประเมินผลการเรียนรู้วิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็น ข้อคำถามชนิดเลือกตอบ (Multiple choice) 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง สำหรับข้อมูลที่ได้นำมาทำการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์ ในการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีประสิทธิผล และค่าสถิติ t-test
ผลการวิจัยพบว่า
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 กลุ่ม 1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน พบว่า นักศึกษา มีความก้าวหน้าทางพัฒนาการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.03 ในขณะเดียวกันมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.81 คิดเป็นร้อยละ 24.05 ของคะแนนเต็ม และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05